top of page

วิธีประหยัดตังค์ฉบับนักเรียนต่างชาติ

Writer's picture: TT&T ServicesTT&T Services


การใช้ชีวิตและเรียนต่อในออสเตรเลียเป็นประสบการณ์ที่น่าสัมผัสและน่าตื่นเต้น แต่สิ่งสำคัญคือการตั้งงบประมาณอย่างรัดกุมให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตเริ่มจากค่าใช้จ่ายด้านค่าเทอม อาหาร ที่พัก การเดินทาง ความบันเทิง เสื้อผ้า รวมถึงเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับพบแพทย์หรือรักษาพยาบาล เป็นต้น การยึดงบประมาณเป็นที่ตั้งจะช่วยให้เราทราบแน่นอนว่าเงินถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำจัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ด้วย ดังนั้น TT&T Services จะมานำเสนอวิธีการประหยัดตังค์ฉบับนักเรียนต่างชาติเพื่อให้น้องๆ ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายและคุ้มค่ากับการมาเรียนมากที่สุด


วางแผนงบประมาณ

การวางแผนงบประมาณ (budgeting) เป็นวิธีหลีกเลี่ยงความเครียดทางการเงินที่จะตามมา โดยมีวิธีดังนี้


  • ดูว่าเรามีบิลหรือค่าใช้จ่ายอะไรที่สำคัญบ้าง เช่น บิลโทรศัพท์ ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น จากนั้นให้เราเข้าไปในแอพมือถือ เพื่อตั้งค่าการชำระเงินโดยหักจากบัญชีอัตโนมัติแทนการชำระเงินด้วยตัวเองเพื่อให้เราสามารถชำระค่าใช้จ่ายตรงเวลา เพราะการชำระเงินล่าช้าอาจเจอค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับที่ไม่จำเป็นได้

  • ถอนเงินในจำนวนที่ตั้งไว้ในแต่ละสัปดาห์และใช้ไม่เกินนี้ เช่น ถอนเงิน 200 AUD เราก็ต้องใช้สำหรับค่าอาหาร ค่าเดินทาง และความบันเทิงอื่นๆ โดยไม่ให้เกินจากนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิตยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน บางทีเราก็อยากได้รองเท้าหรือโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่แต่สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ความต้องการแต่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น

  • หนึ่งในวิธีการซื้อของที่ดีที่สุดคือการใช้บัตรเดบิตซื้อสินค้าออนไลน์ นอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเหมือนบัตรเครดิต

  • ธนาคารบางแห่งคิดค่าธรรมเนียมการถอนเงินจากตู้ ATM ของธนาคารรายอื่น หรือคิดค่าธรรมเนียมในการใช้EFTPOS (การจ่ายเงินด้วยบัตรเดบิต) ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้เราประหยัดได้มากขึ้นคือการลดจำนวนการใช้EFTPOS และถอนเงินจากตู้ของธนาคารของเราเท่านั้

  • ออสเตรเลียมีร้านขายของมือสอง (opportunity shops) มากมายที่ขายทั้งเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องครัว และของใช้ในบ้านเรือนอื่นๆ นอกจากเราจะสามารถสรรหาสินค้าเหล่านี้ในราคาถูกแล้ว ยังช่วยลดขยะที่เกิดจากการซื้อเสื้อผ้า fast fashion ได้ด้วย

  • เมืองใหญ่ๆในออสเตรเลียมีกิจกรรมฟรีให้เลือกทั้งหลากหลายที่สามารถทำได้คนเดียวและร่วมสนุกกับเพื่อนได้ ทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการศิลปะ สวนสาธารณะ งานดนตรี ฯลฯ ซึ่งเราสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมได้ผ่านอินสตาแกรมหรือเฟสบุ๊คของเมืองที่เราอยู่




ค่าเช่าบ้าน

เงินส่วนใหญ่ที่เราหามาได้มักกจะหมดไปกับค่าเช่าบ้าน ดังนั้น เราควรศึกษาข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับตัวเลือกที่พักอาศัยว่าแบบไหนประหยัดตังค์ได้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ความสะอาด ตำแหน่งที่ตั้ง สิ่งอำนวยความสะดวก การเดินทาง ความปลอดภัย และการจัดการของผู้ให้เช่า (landlord)


การหาที่พักที่ตรงความต้องการทุกด้านแต่ราคาย่อมเยาว์ก็อาจเป็นเรื่องยากในบางครั้ง เพราะแต่ละปีออสเตรเลียมีนักเรียนต่างชาติจำนวนมากเข้ามา เราจึงต้องแข่งขันกับผู้เช่ารายอื่นเพื่อให้ได้ที่พักในสเป็คเรามา ที่พักในออสเตรเลียมีตั้งแต่ราคา 110 ถึง 270 AUD ต่อสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าที่นั่นอยู่ในย่านไหน เป็นห้องแชร์หรือห้องส่วนตัว


นักเรียนต่างชาติมักจะเช่าห้องแชร์อยู่ร่วมกันกับรูมเมทซึ่งช่วยให้จ่ายน้อยกว่าห้องส่วนตัว ก่อนจะเช่าบ้าน เรามีทริคแนะนำดังนี้

  • หากเราเช่าที่พักผ่านเจ้าของหรือตัวแทน ขอแนะนำให้คุณพยายามต่อรองค่าเช่าด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ควรต่อราคาให้เหมาะสม อย่าต่อจนเกินไป ไม่งั้นที่พักนั้นอาจจะหลุดลอยไปอยู่ในมือของผู้เช่ารายอื่นที่ยินดีจ่ายเยอะกว่าเราก็ได้

  • แม้ว่าเจ้าของบ้านไม่ต้องการต่อรองค่าเช่า เราอาจจะลองต่อรองว่าขอให้ค่าบิลต่างๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าก๊าซ และค่าอินเทอร์เน็ต รวมอยู่ในค่าเช่าได้หรือไม่




การเดินทาง

รู้หรือไม่ว่านักเรียนต่างชาติก็มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดค่าโดยสารสาธารณะ เมื่อเราได้บัตรนักเรียนมาแล้ว ขอให้ตรวจสอบกับทางสถาบันหรือโรงเรียนว่านักเรียนที่นี่มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดนั้นหรือไม่ เมืองใหญ่หลายแห่งจะคิดอัตราค่าบริการขนส่งสาธารณะสำหรับนักเรียนแบบรายสัปดาห์หรือรายเดือนซึ่งช่วยให้ประหยัดตังค์ได้มาก ทั้งนี้ก็มีวิธีอื่นๆที่ขอแนะนำด้วยเช่นกัน

  • ถ้าเราต้องการประหยัดค่าเดินทางจริงๆ ควรพยายามหาที่พักใกล้สถาบันหรือโรงเรียนของเรา

  • บางกรณี การอยู่ใกล้สถานศึกษาก็อาจต้องจ่ายค่าเช่าที่แพงกว่า ดังนั้นการเลือกอยู่ห่างออกไปหน่อยโดยใช้จักรยานหรือสกูตเตอร์ขี่ไป-กลับ ก็ช่วยให้ประหยัดตังค์ระยะยาวได้ โดยอาจหาซื้อได้จาก Gumtree หรือ Kmart

  • หากเป็นไปได้ ควรใช้บริการขนส่งสาธารณะในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน เนื่องจากค่าโดยสารจะถูกกว่ามาก

  • แท็กซี่ในออสเตรเลียค่าบริการค่อนข้างแพง เราจึงไม่แนะนำให้ใช้แท็กซี่ถ้าไม่จำเห็น แต่ถ้าหากต้องใช้จริงๆ เราแนะนำให้เรียกรถผ่านแอพ เช่น Uber, Ola, Didi, Taxify แทน




อาหารการกิน

  • ในออสเตรเลีย การทำอาหารเองที่บ้านถูกกว่าการรับประทานอาหารนอกบ้านมาก ดังนั้น เราควรเรียนรู้ที่จะทำอาหารเอง ซึ่งการทำครั้งหนึ่งสามารถนำมารับประทานได้หลายมือหรือหลายวันเลย

  • ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เช่น Woolworths, Coles และ Aldi มักจะมีโปรโมชั่นดีๆอยู่เสมอ โดยช่วงสามทุ่มเป็นต้นไปมักจะมีอาหารลดราคามาวางขาย

  • อย่าลืมใช้บัตรสะสมคะแนนของห้างร้านต่างๆ เพราะมักจะมีข้อเสนอพิเศษ และเมื่อเราสะสมคะแนนถึง 2,000 คะแนน เราจะสามารถประหยัดเงินได้สูงสุดถึง 10 AUD

  • 7-Eleven ที่ออสเตรเลียขายของแพง เราจึงไม่แนะนำให้ซื้อของที่นี่ ยกเว้นกาแฟแก้วละ 1 ดอลลาร์

  • หากต้องการประหยัดเพิ่ม 5% เวลาซื้อสินค้าทั่วไป เราสามารถซื้อบัตรกำนัล Woolworths จาก Cash Rewards หรือ Shopback ได้




เสื้อผ้า

  • หลายๆครั้งจะพบว่าการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะถูกกว่าซื้อที่ร้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี และเสื้อผ้า

  • ช่วงเวลาธันวาคม มกราคม และมิถุนายนของทุกปีแบรนด์ต่างๆจะนำสินค้ามาลดราคา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราควรซื้อเสื้อผ้ามากที่สุด

  • ช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น Boxing Day หรือ Black Friday ของทุกปีก็เป็นอีกช่วงที่สินค้าลดกระหน่ำเช่นกัน ดังนั้นควรเก็บตังค์ไว้สำหรับวาระโอกาสนี้โดยเฉพาะ

  • การมีเสื้อผ้าเบสิคบางอย่าง เช่น เสื้อยืดสีขาว กางเกงยีนส์ จะช่วยให้เราสามารถ mix and match ได้หลากหลายกว่าการซื้อเสื้อผ้าตามกระแสที่อาจตกยุคในเวลาต่อมาได้ นอกจากนี้จะทำให้เราได้ใส่เสื้อผ้าชิ้นนั้นได้บ่อยครั้งและใช้ได้นานหลายปี

  • ร้านขายของมือสองในออสเตรเลียหลายๆแห่ง เช่น Salvation Army, Vinnies, Sacred Heart, Red Cross มีสินค้าแบรนด์เนมมือสองมาขายในราคาถูก ซึ่งบางทีอาจถูกถึง 10 – 20 AUD เพียงเท่านั้น

  • ศูนย์การค้า DFO เป็นแหล่งช็อปปิ้งเสื้อผ้าแบรนด์ดัง อาทิ Nike, Coach, Adidas, The North Face, Ralph Lauren, Calvin Klein ที่คนออสซี่และชาวต่างชาตินิยมไปช็อปเนื่องจากมีสินค้าราคาโรงงานวางขายซึ่งถูกกว่าช็อปทั่วไป

  • เว็บไซต์อย่าง eBay และ Amazon มักจะมีโปรโมชั่นดีๆอยู่เสมอ

  • ในแต่ละเมืองมักจะมีตลาดสุดสัปดาห์ที่คนท้องถิ่นจะเอาของใช้ส่วนตัวมาวางขายในราคาที่ถูกลง




บิลต่างๆ

  • วิธีการประหยัดบิลได้ง่ายที่สุด คือการใช้สิ่งนั้นเท่าที่จำเป็นและปิดอุปกรณ์เมื่อไม่ใช้งาน

  • ในการซื้อสินค้าควรเปรียบเทียบราคาระหว่างแบรนด์ต่างๆ เช่น ไฟฟ้า แก๊ส อินเทอร์เน็ต และแพลนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งออสเตรเลียมีเว็บไซต์มากมายที่เปรียบเทียบค่าสาธารณูปโภคเหล่านี้

  • เมื่อแพลนโทรศัพท์มือถือหรือบริการสาธารณูปโภคที่เราใช้อยู่สิ้นสุดอายุบริการแล้ว ให้แจ้งไปยังผู้ให้บริการว่า หากพวกเขาไม่มีข้อเสนอที่ดีหรือถูกกว่านี้ เราจะย้ายไปใช้บริการเจ้าอื่นแทน


การรับประทานอาหารนอกบ้าน

  • แม้ว่าการรับประทานอาหารนอกบ้านจะแพงกว่าทำเองที่บ้าน แต่ก็มีวิธีที่ทำให้จ่ายในราคาที่ถูกลงเช่นกัน โดยใช้แอพ อาทิ Groupon, Scoopon และ Liven เพื่อหาดีลพิเศษเพื่อให้เรารับประทานอาหารนอกบ้านอย่างสบายใจ

  • รอบๆสถาบันหรือโรงเรียนของเรามักจะมีร้านอาหารที่มีดีลสำหรับนักเรียน/นักศึกษาเป็นประจำ

  • หลีกเลี่ยงการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงสุดสัปดาห์ เพราะนอกจากร้านอาหารจะเต็มไปด้วยผู้คนแล้ว เราจะต้องจ่ายค่าบริการ (service fee) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับทางร้านด้วย




เอนเตอร์เทนเมนท์และการเที่ยวกลางคืน

  • สายหนังที่อยากดูหนังในราคาประหยัด แนะนำให้ดูหนังในช่วงเวลาที่คนไม่ค่อยไปดูหนังกัน คือ วันอังคาร วันพุธ และช่วงค่ำของวันธรรมดา (ยกเว้นวันศุกร์)

  • วันอังคารมักจะเป็นวันที่ตั๋วหนังราคาถูกที่สุด

  • Groupon เองก็มีดีลตั๋วหนังด้วยเช่นกัน

  • ถ้าชอบดูหนังบ่อย ๆ การสมัครสมาชิก Netflix ($9.99) หรือ Amazon Prime ($6.99) ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีนะ

  • การพกแต่เงินสดเวลาออกไปเที่ยวกลางคืนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราใช้เงินภายในงบ

  • กรณีที่อยากออกไปดื่มนอกบ้าน ควรเริ่มจากการดื่มในบ้านเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะเครื่องดื่มตามร้านอาหารหรือบาร์ราคาค่อนข้างแพง เช่น 20 AUD ต่อแก้ว

  • สายตื้ดที่ชอบไปไนต์คลับ แนะนำให้มาก่อนช่วงพีค เพราะค่าเข้าจะถูกกว่า โดยช่วงพีคมักจะเริ่มที่ 23.00 – 24.00 น.

  • อย่าถอนเงินที่ตู้ ATM ในเคสิโน ไนท์คลับ หรือบาร์เด็ดขาดเพราะอาจโดนชาร์จค่าธรรมเนียมสูงถึง 5 AUD



9 views0 comments

Comments


bottom of page