หลังจากได้วีซ่ามาครองแล้ว การหาที่พักและเช่าบ้านในเมืองที่เราจะไปเรียนเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ แม้จะฟังดูยุ่งยากและมีหลายขั้นตอนแต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถน้องๆค่ะ เพื่อช่วยน้องๆ ผ่านการหาที่พักได้อย่างราบรื่น ทีมงาน TT&T Services จะมาแนะนำทุกขั้นตอนตั้งแต่การหาที่พักไปจนถึงการเซ็นสัญญาเช่าบ้าน เพื่อให้ทุกคนได้พักอาศัยในที่พักแบบที่ต้องการ
การค้นหาที่พักในออสเตรเลียเป็นสิ่งท้าทายมากสำหรับนักเรียนต่างชาติ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่
การแข่งขันกับคนออสซี่ – คนออสซี่ย่อมได้เปรียบในการหาบ้านเช่า เพราะมีความคุ้นเคยกับพื้นที่และรู้แหล่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตรงนี้ทำให้นักเรียนต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยกับเมืองนั้นๆ มาก่อน ไม่รู้ว่าจะต้องไปอยู่ตรงไหนดี เขตไหนปลอดภัยและเดินทางสะดวก หรือเริ่มหาที่พักจากช่องทางใด
ขาดประวัติการเช่า – อุปสรรคหนึ่งที่นักเรียนอาจพบ คือ ขาดประวัติการเช่าในออสเตรเลีย ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านมักต้องการผู้เช่าที่มีประวัติการเช่าที่เพื่อเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าเป็นผู้เช่าที่รับผิดชอบ ทำให้สำหรับนักเรียนมีความยากในการหาที่พัก
ขาดหลักฐานรายได้ – เนื่องจากนักเรียนที่มาใหม่ยังไม่มีประวัติการจ้างงานในออสเตรเลีย จึงขาดหลักฐานรายได้ที่จะเป็นหลักประกันว่าเรามีความสามารถในการจ่ายค่าเช่าได้
การมีผู้ค้ำประกันหรือไม่มีผู้ค้ำประกัน – นักเรียนต่างชาติบางรายอาจไม่มีผู้ค้ำประกันที่สามารถรับรองความมั่นคงทางการเงินและความน่าเชื่อถือในฐานะผู้เช่าได้ ผู้ค้ำประกันมีบทบาทสำคัญในการทำให้เจ้าของบ้านเชื่อว่าผู้เช่ามีความสามารถในการจ่ายค่าเช่าและมีความรับผิดชอบในฐานะผู้เช่า
เพื่อช่วยน้องๆในการเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ ทีมงาน TT&T Services จะมาแนะนำทุกขั้นตอนตั้งแต่การหาที่พักไปจนถึงการเซ็นสัญญาเช่าบ้าน เพื่อให้ทุกคนได้พักอาศัยในที่พักแบบที่ต้องการค่ะ
ขั้นตอนที่ 1: หาที่พักอาศัย
เมื่อมองหาที่พัก สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือการหาที่พักที่มอบความสะดวกสบายและความปลอดภัยเพื่อให้น้องๆ สามารถเต็มที่กับการเรียนและการใช้ชีวิตได้
ถึงแม้ว่าจะมีการแข่งขันในการหาที่พักอยู่บ้าง แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของออสเตรเลีย คือ มีที่พักหลากหลายรูปแบบให้กับนักเรียนต่างชาติ ตั้งแต่บ้าน อพาร์ทเม้นท์ หอพักนักศึกษา ฯลฯ โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น ซิดนีย์ เมลเบิร์น บริสเบน อะดิเลด เป็นต้น เมื่อน้องๆจะเริ่มหาที่พักประเภทใดก็ตาม ควรพิจารณาตามเกณฑ์ในการเลือกต่อไปนี้
งบประมาณ – ให้ลองคำนวณดูว่าเราสามารถจ่ายค่าเช่าสัปดาห์หนึ่งได้เท่าไหร่
เขต – ให้ตัดสินใจว่าเราอยากจะอยู่เขตพื้นที่ไหน ซึ่งแต่ละเขตก็มีข้อได้เปรียบ ข้อเสียต่างกัน เช่น ค่าครองชีพ การเดินทาง ฯลฯ
สิ่งอำนวยความสะดวก – เวลาค้นหาควรระบุบสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญต่อเรา เช่น ที่พักที่ตกแต่งอย่างครบครัน ที่พักที่มียิม ที่พักที่ไม่ตกแต่ง เป็นต้น สิ่งสำคัญที่นักศึกษาจะต้องมีก็คือโต๊ะทำงานและเก้าอี้ที่นั่งสบายในการทำการบ้านอ่านหนังสือ
ตำแหน่งที่ตั้ง – ให้เราประเมินความสะดวกในการเดินทางไปยังโรงเรียน/มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน และห้างสรรพสินค้า
การขนส่งสาธารณะ – ประเมินระยะทางจากที่พักถึงโรงเรียน และรอบๆที่พักนั้นมีโหมดขนส่งสาธารณะอะไรบ้าง มีรถไฟหรือรถบัสใกล้บ้านเราไหม หรือเดินทางลำบากหรือเปล่า
วิธีที่นักเรียนต่างชาติและคนออสซี่นิยมในการหาที่พักมาที่สุดคือการค้นหาผ่านเว็บไซต์ ดังต่อไปนี้
ข้อควรพิจารณา
ทำเลที่ตั้ง: ยิ่งที่พักอยู่ใกล้เขต CBD และโรงเรียนมากเท่าไหร่ ค่าเช่าก็ยิ่งสูงขึ้น ถึงแม้ว่าการเดินทางใน CBD จะค่อนข้างสะดวกสบาย แต่การหาที่พักที่ตรงความต้องการของเรากลับเป็นเรื่องท้าทายเพราะนักเรียนต่างชาติจากทั่วสารทิศต่างก็อยากอยู่ในเมือง อีกทั้งค่าเช่าที่สูงกว่าเขตที่อยู่นอกเมืองออกไป โดยที่พักนอกเมืองจะมีความเงียบสงบกว่า และมีรูปแบบให้เลือกหลากหลายกว่า ดังนั้น ลองพิจารณาดูว่าเราชอบแบบไหนมากกว่ากัน
ประเภทของที่พัก: ที่พักที่ให้เช่ามีทั้งแบบอพาร์ทเม้นท์ บ้านเช่า โฮมสเตย์ หอพักนศ. น้องๆอาจเลือกแบบแชร์ห้องหรือห้องส่วนตัว ไปจนถึงห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์ครบชุด และห้องที่ไม่มี สำหรับนักเรียนต่างชาติที่มาใหม่นิยมเช่าแบบแชร์ห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว เนื่องจากการแชร์ห้องค่าเช่าจะถูกกว่าประเภทอื่นๆ และนักเรียนยังไม่มีงานพาร์ทไทม์ จึงเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย สำหรับคนที่อยู่มาระยะหนึ่งแล้ว อาจจะย้ายออกมาอยู่บ้านเช่าที่ได้ห้องส่วนตัวเพื่อให้ความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
ข้อตกลงในการเช่า: เมื่อเช่าที่พักในออสเตรเลีย น้องๆจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของผู้เช่า (ตัวเราเอง) และเจ้าของที่พัก ระยะเวลาขั้นต่ำของสัญญาอาจเริ่มตั้งแต่สามถึงหกเดือน แต่ส่วนมากสัญญามีระยะเวลาอย่างน้อยสิบสองเดือน ผู้เช่ายังต้องจ่ายเงินประกันที่เรียกว่า "บอนด์" (bond) ซึ่งจะถูกใช้ในการทำความสะอาดและซ่อมแซมหลังผู้เช่าย้ายออกจากที่พัก เจ้าของที่พักแต่ละรายจะมีการระบุในสัญญาว่ามีกฎระเบียบและข้อบังคับสำหรับผู้เช่าอะไรบ้างซึ่งผู้เช่าต้องปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ น้องๆ สามารถเข้าชมเว็บไซต์ของหน่วยงานสังกัด "หน่วยงานด้านทรัพย์สินที่พักอาศัย” (Residential TenanciesAuthority) เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่า เว็บไซต์นี้จะช่วยให้ผู้เช่าเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนก่อนที่จะเซ็นสัญญาเช่า
สิทธิของผู้เช่า: นักเรียนต่างชาติที่เช่าอพาร์ตเมนต์ในออสเตรเลียควรทราบสิทธิของผู้เช่าเพื่อไม่ให้โดนเอารัดเอาเปรียบ โดยสามารถเข้าชมเว็บไซต์ realestate.com.au เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิของผู้เช่าในรัฐต่างๆ ของออสเตรเลียได้
ขั้นตอนที่ 2: ไปตรวจสอบสถานที่
เมื่อหาที่พักที่ตรงความต้องการได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนัดแนะเจ้าของบ้านหรือเอเจ้นท์เพื่อไปตรวจสอบ (inspect) สถานที่ด้วยตนเอง โดยเราจะต้องนัดแนะวันและเวลาที่เราสะดวกและตรงกับผู้พาชมที่พักซึ่งอาจเป็นเจ้าของเองหรือเอเจ้นท์ก็ได้
โดยทั่วไปแล้ว ผู้พาชมจะเปิดให้ตรวจสอบสถานที่เป็นเวลา 15-30 นาที วันเสาร์เป็นวันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ก็จะเป็นวันที่มีคนอื่นๆ มาชมที่พักด้วยเหมือนกันหากที่พักนั้นเป็นที่ต้องการมากในท้องตลาด อย่างไรก็ตาม น้องๆสามารถนัดแนะวันเวลาอื่นได้ ที่สะดวกทั้งตัวเองและผู้พาชม
หลังจากที่ได้ตรวจสอบสถานที่แล้ว ผู้พาชมอาจสอบถามว่าเราชอบสถานที่นั้นหรือไม่และอยากทำเรื่องส่งใบสมัครเป็นผู้เช่าไหม หากเราสนใจก็สามารถดำเนินการสู่ขั้นตอนที่ 3 ได้ หากไม่สนใจ ก็สามารถตรวจสอบสถานที่อื่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบสถานที่ที่ตรงกับความต้องการที่สุด
การตรวจสอบสถานที่ก่อนที่จะเช่าเป็นสิ่งที่แนะนำให้ทำอย่างยิ่ง เนื่องจาก หลายๆครั้งจะพบว่า ภาพไม่ตรงปกสถานที่จริง มีการชำรุดเสียหายในบางจุด หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือน้ำประปาใช้ไม่ได้เป็นต้น ดังนั้นการตรวจสอบที่พักด้วยตนเองทำให้เรารู้ว่าที่นั่นจะมีปัญหาอื่นๆตามมาไหม หรือย้ายเข้าไปอยู่ได้เลยแบบสะดวกโยธิน
ขั้นตอนที่ 3: กรอกใบสมัคร
เมื่อพอใจกับที่พักแล้ว น้องๆจะต้องดำเนินการสมัครเช่าที่พัก ส่วนใหญ่จะเป็นการกรอกแบบฟอร์มใบสมัครและให้ข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่น
ข้อมูลส่วนตัวรวมถึงเอกสารประจำตัว
รายละเอียดการจ้างงาน
ประวัติการเช่าที่เคยมี
การอ้างอิงจากผู้ว่าจ้างและเจ้าของที่พักก่อนหน้า เป็นต้น
เมื่อส่งใบสมัคร เอเจ้นท์จะแจ้งให้เราทราบผลการสมัครหลังจากพูดคุยกับเจ้าของที่พัก เอเจ้นท์ยังจะดำเนินการตรวจสอบประวัติการทำงานและการอ้างอิงเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เช่าสามารถจ่ายค่าเช่าได้ตรงเวลา บางกรณีที่พักนั้นเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมาก เราอาจจะต้องรีบส่งใบสมัครเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับการตอบรับจากเจ้าของที่พัก
ขั้นตอนที่ 4: เซ็นสัญญาเช่าและวางเงินประกัน
หากการสมัครได้รับการอนุมัติ ขั้นตอนถัดไปคือการเซ็นสัญญาเช่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างผู้เช่าและเจ้าของที่พัก สัญญาเช่าสามารถเป็นสัญญามีกำหนดเวลาที่แน่นอน (เช่น 12 เดือน) หรือสัญญาเช่ารายเดือน (รายเดือน)
เอกสารสัญญาเช่านี้จะมีข้อมูลดังต่อไปนี้:
ระยะเวลาการเข้าพักของผู้เช่า
จำนวนค่าเช่า
เวลาที่ต้องชำระค่าเช่าและวิธีการชำระ
จำนวนเงินประกัน
ความถี่ของการตรวจสอบที่พัก
เงื่อนไขพิเศษที่ผู้เช่าต้องปฏิบัติตาม
โดยทั่วไปแล้ว ผู้เช่าจะต้องวางเงินประกันเมื่อเซ็นสัญญาเช่า ค่าประกันเป็นเงินฝากความปลอดภัยที่สามารถขอคืนได้เมื่อย้ายออกจากที่แห่งนั้น เจ้าของที่พักหรือเอเจ้นท์อาจกำหนดให้ผู้เช่าจ่ายเงินประกันเทียบเท่ากับ 2 ถึง 4 สัปดาห์ของค่าเช่าที่ต้องจ่าย ยกตัวอย่างเช่น ค่าเช่าที่พักสัปดาห์ละ $170 หากสัญญาเช่าระบุว่าต้องวางเงินประกัน 2 สัปดาห์ เท่ากับว่าผู้เช่าต้องจ่ายประกัน 170 + 170 = $340 เป็นต้น
เงินประกันนี้จะถูกจัดเก็บจนกว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลงและผู้เช่าตัดสินใจย้ายออกจากที่พักนั้น การเก็บเงินประกันเป็นการรักษาสิทธิของเจ้าของที่พักเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่เกิดการชำรุดเสียหายจากผู้เช่า สิ่งสำคัญ คือ ผู้เช่าจะได้รับสำเนาใบเสร็จการเก็บเงินประกันของตน
หากน้องๆวางแผนที่จะให้ผู้อื่นเช่าที่พักต่อจากเราก่อนสัญญาหมด เราควรขออนุญาตจากเจ้าของที่พักก่อน นอกจากนี้ ควรมีชื่อผู้เช่าร่วมทั้งหมดในสัญญาเช่าด้วย เนื่องจากมีผลผูกพันกฎหมายต่อผู้เช่าทุกคนในกรณีที่เกิดสถานการณ์ที่ไม่ดีขึ้น
ขั้นตอนที่ 5: รายงานสภาพที่พัก
เมื่อน้องๆได้เซ็นสัญญาเช่าและจ่ายเงินประกันไปแล้ว ก่อนที่เราจะย้ายเข้าที่พัก เอเจ้นท์หรือเจ้าของที่พักจะให้เรารายงานสภาพที่พัก โดยบันทึกในเอกสารว่าสภาพทั่วไปเป็นอย่างไร มีการชำรุด เสียหาย มีรอยขีดข่วน หรือเสื่อมสภาพหรือไม่ ทางที่ดีคือ น้องๆต้องถ่ายรูปไว้ทุกซอกมุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่มีการชำรุด เสื่อมสภาพ เพราะหลายๆครั้งจะพบว่า เจ้าของที่พักอาจกล่าวว่าสภาพนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของเรา และจะหาเรื่องยึดเงินประกันของเราได้
ดังนั้น ในฐานะผู้เช่า เราจะต้องรายงานข้อมูลสมบูรณ์ที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการบิดพลิ้วของอีกฝ่ายได้หลังจากกรอกเอกสารเสร็จแล้ว เราส่งกลับไปให้เอเจ้นท์หรือเจ้าของที่พัก และเราควรเก็บสำเนาการรายงานสภาพ และภาพถ่ายความเสียหาย รอยขีดข่วน การเสื่อมสภาพดังกล่าวไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทในอนาคตกับเอเจ้นท์หรือเจ้าของที่พักได้
ขั้นตอนที่ 6: การย้ายเข้าและการตรวจสอบสภาพ
ในที่สุดก็ถึงเวลาย้ายเข้าที่พักใหม่แล้ว!! ในฐานะผู้เช่าบ้าน น้องๆควรจะรักษาความสะอาดและเรียบร้อยไว้เสมอให้หมือนบ้านกับบ้านของตัวเอง เพราะเราต้องคำนึงถึงการอยู่อาศัยร่วมกับผู้อื่นและเอเจ้นท์หรือเจ้าของที่พักจะมีการมาตรวจที่พักอยู่เสมอ อย่างน้อย 2 หรือ 3 ครั้งต่อปี หากสัญญาเช่ามีระยะเวลา 12 เดือน อาจจะมีการตรวจสอบมากขึ้นหรือน้อยลงขึ้นไปอยู่กับข้อตกลงที่เรามีกับเอเจ้นท์หรือเจ้าของที่พักนั่นเอง
สิ่งที่เราควรทราบคือ เอเจ้นท์หรือเจ้าของที่พักไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบที่พักโดยภาระการได้ จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น เช่น ผ่านข้อความหรืออีเมล เป็นต้น หากขณะที่เราเช่ามีสิ่งที่ต้องซ่อมแซม เราสามารถแจ้งให้เอเจ้นท์หรือเจ้าของที่พักได้ทราบเมื่อมาตรวจสอบ แต่หากบางอย่างต้องได้รับการซ่อมแซ่มอย่างเร่งด่วน ก็ควรจะต้องแจ้งให้พวกเขาทราบโดยเร็วที่สุด
ขั้นตอนที่ 7: สิ้นสุดสัญญาเช่า
เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว การต่อสัญญาเพิ่มต่อหรือไม่นั้นอยู่ในความตัดสินของผู้เช่าและผู้ให้เช่า หากเรากำลังวางแผนที่จะย้ายหลังสิ้นสุดสัญญาเช่า จะต้องแจ้งให้เอเจ้นท์หรือเจ้าของทราบน้อย 28 วันก่อนสิ้นสุดสัญญาเช่า เพื่อให้พวกเขามีเวลาได้ประกาศหาผู้เช่ารายใหม่ได้ทัน
ก่อนออกจากที่พัก เราจะต้องดูแลความสะอาดเรียบร้อยให้เหมือนกับสภาพเดียวกับตอนที่ย้ายเข้ามา เอเจ้นท์หรือเจ้าของที่พักจะเข้ามาตรวจสอบสถานที่ก่อนจะมีการส่งมอบคืนกุญแจ
เมื่อการตรวจสอบสิ้นสุดลงแล้ว เราหรือเอเจ้นท์หรือเจ้าของจะต้องกรอกแบบฟอร์มเรียกเก็บเงินประกัน เพื่อตกลงกันถึงวิธีการและผู้ที่ควรได้รับเงินประกันนั้น โดยปกติแล้วหากไม่มีอะไรชำรุดเสียหาย ผู้เช่าจะได้เงินประกันคืน แต่หากพบว่ามีกรณีนี้เกิดขึ้นระหว่างที่เราเป็นผู้เช่า หรือความเสียหายเกิดจากการกระทำของเรา เจ้าของก็จะต้องนำเงินประกันนั้นไปซ่อมแซ่มความชำรุดเสียหายหรือทำความสะอาด
ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่าย ควรนำเรื่องไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องเงินประกันที่เราควรจะได้คืน
ช่องทางการขอความช่วยเหลือสำหรับผู้เช่าในรัฐต่างๆ
หากน้องๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเช่า ขอแนะนำให้ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรัฐที่น้องอยู่อาศัย ตามช่องทางดังต่อไปนี้
ACT – Tenants Union Act NSW – Tenants Advice & Advocacy Services NT – Consumer Affairs Northern Territory QLD – Tenants Queensland SA – Tenants’ Information and Advisory Service TAS – Consumer Affairs and Fair Trading VIC – Consumer Affairs Victoria WA – Tenancy WA
หากมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับประกันสุขภาพทาง ทีมงานของเราก็ยินดีให้คำปรึกษาฟรีค่ะ
Phone: (04) 7915 4195
LINE ID: @ttandtservicesau
Address: 202/368 Sussex St, Sydney NSW 2000
תגובות